>สารจากคณบดี

รองศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ เทพานนท์

คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ขอต้อนรับท่านเข้าสู่ website คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการศึกษาด้านการสาธารณสุขแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2491

จากประวัติอันยาวนาน ร่วมกับความมุ่งมั่นในการพัฒนาด้านการเรียนการสอน การวิจัย อย่างต่อเนื่องสอดคล้องและเท่าทันพลวัตของการเปลี่ยนแปลง ทำให้คณะสาธารณสุขศาสตร์เป็นผู้นำด้านการศึกษาทางสาธารณสุขในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยบูรณาการองค์ความรู้ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในกระบวนการจัดการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษามีความเป็นเลิศในเชิงทฤษฎีและพัฒนาการประยุกต์องค์ความรู้สู่การปฏิบัติเพื่อประโยชน์สูงสุดในการปกป้อง (Protection) ป้องกัน (Prevention) และส่งเสริม (Promotion) สุขภาพอนามัยของประชาชนอันเป็นหลักสากลในการดำเนินงานด้านสาธารณสุขซึ่งมีความสอดคล้องโดยตรงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs) ข้อที่ 3 (Good Health and Well-Being)

วิสัยทัศน์

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บ้านของผู้นำด้านสาธารณสุขในระดับประเทศและนานาชาติ

พันธกิจ

พัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขผ่านนวัตกรรมและกระบวนการเรียนรู้ตามสภาพจริง เพื่อการยอมรับ ในความเป็นเลิศในระดับชาติและระดับโลก

การจัดการศึกษา มุ่งผลิตบัณฑิตทุกระดับทั้งไทยและนานาชาติด้านสาธารณสุขศาสตร์สาขาต่าง ๆ และจัดอบรมให้แก่บุคลากรและผู้สนใจจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งไทยและนานาชาติ ด้วยศักยภาพของ 13 ภาควิชาที่ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มวิชาการ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ด้านส่งเสริมสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย และด้านการควบคุมป้องกันโรค

การวิจัยที่มีคุณภาพและตอบโจทย์สังคม เป้าหมายการทำวิจัยของคณะฯ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ด้วยกลยุทธ์การวิจัยบูรณาการข้ามศาสตร์ ระหว่างคณะฯ ระหว่างมหาวิทยาลัย และระหว่างหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์และการอ้างอิง ในฐานข้อมูลระดับสากล ตลอดจนการสรรสร้างนวัตกรรมที่ได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในการนำไปใช้ประโยชน์ด้านสังคมและเศรษฐกิจ

คณะสาธารณสุขศาสตร์ จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลและนโยบายมหาวิทยาลัยมหิดลโดยมุ่งจัดการเรียนการสอนเพื่อให้บัณฑิตมีศักยภาพในการสร้างการรอบรู้ให้คนไทยและสังคมไทย กิจกรรมการเรียนการสอนในและนอกห้องเรียน การจัดการเรียนการสอนที่เปิดกว้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจ ได้เข้าถึง เข้าใจ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรรสร้าง และเผยแพร่ผลงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสม แล้วตัดสินใจนำองค์ความรู้ ที่เกิดจากการวิจัยและประสบการณ์ของคณาจารย์ นักศึกษาและบุคลากรของคณะฯ ไปใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค โดยที่คณะฯ ใช้กลยุทธ์ PIRAB ตามกฎบัตรกรุงเทพมหานคร เพื่อการส่งเสริมสุขภาพในโลกยุคโลกาภิวัตน์ประกาศใช้เมื่อปีพุทธศักราช 2548 เน้นการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มองค์กรต่างๆ เพื่อการเป็น คณะสาธารณสุขศาสตร์เพื่อสังคม

เป้าหมายการพัฒนาคณะฯ เพื่อการเป็นปัญญาของแผ่นดินนี้จะเป็นจริงได้ ด้วยพลังความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน ฯลฯ องค์การระหว่างประเทศและภาคีเครือข่าย เช่น SEAMEO-Trop Med, WHO, WHO-SEARO, UNICEF, World Bank, South-East Asian Public Health Education Institutes Network (SEAPHEIN) ซึ่งมีกลุ่มสมาชิกเครือข่าย 15 สถาบัน และ Asia–Pacific Academic Consortium for Public Health (APACPH) ฯลฯ ตลอดจนศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันที่นับเป็นเครือข่ายที่ริเริ่มเพิ่มเติมขึ้นใหม่

ในฐานะผู้นำองค์กร ผมขอเชิญชวนทุกท่านมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาด้านสาธารณสุข และใช้คณะสาธารณสุขศาสตร์เป็นแหล่งอ้างอิง เปิดโอกาสให้คณะสาธารณสุขศาสตร์ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม พัฒนาองค์กรของท่านเพื่อการมีสุขภาพดีของคนไทยหรือพลเมืองโลกที่ท่านรัก ห่วงใยและดูแลอยู่ร่วมกัน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ