2565

>ข่าวประชาสัมพันธ์ >แนวทางการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นรูปธรรมในสายตาประชาชน
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เสนอผลการศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นรูปธรรมในสายตาประชาชน

รองศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เสนอผลการศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นรูปธรรมในสายตาประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,160 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 – 8 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงการรับรู้และความคิดเห็นต่อส่วนราชการ กระทรวงต่าง ๆ ในการป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ร้อยละ 48.1 ระบุ ยังไม่เห็นความรับผิดชอบและความจริงจังต่อเนื่อง จากส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา ฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร ตามนโยบายของรัฐบาล

ในขณะที่ ร้อยละ 45.3 ต้องการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตื่นตัวเข้ามารับผิดชอบและทำหน้าที่อย่างจริงจังเป็นรูปธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งการป้องกันและการแก้ปัญหาที่ต่อเนื่องและยั่งยืน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และร้อยละ 44.2 ระบุประชาชนทุกคนต้องตระหนัก และมีส่วนร่วมกันรณรงค์และปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดและลดการใช้รถ และกิจการที่ก่อให้เกิดควันและปัญหาในช่วงเวลาดังกล่าว การร่วมกันปลูกต้นไม้ในพื้นที่เขตเมืองมากขึ้น

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความต้องการของประชาชนต่อส่วนราชการ กระทรวงต่าง ๆ ในการป้องกันและแก้ปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.9 ระบุกระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก ต้องเข้าไปกำหนดและตรวจสอบรถควันดำที่ยังมีมาก ตามท้องถนน รวมทั้งรถสาธารณะควันดำในความรับผิดชอบให้มากขึ้น เช่น รถเมล์ ขสมก. รถร่วม รถตู้ รถแท๊กซี่ รถบรรทุก รถปิกอัพ ที่ยังพบเห็นจำนวนมาก และเสนอให้นำรถไฟฟ้าสาธารณะมาใช้มากขึ้น รวมทั้งการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า รถสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนมาใช้ อย่างปลอดภัยมากขึ้น เป็นต้น

ในขณะที่ ร้อยละ 39.7 ระบุส่วนราชการสังกัด กรุงเทพมหานคร ต้องตื่นตัวกำหนดมาตรการการเข้าออกและจำกัดพื้นที่เขตเมือง โดยเฉพาะในย่านจอแจ เพื่อมิให้รถเข้าไปจำนวนมาก ควบคุมการก่อสร้างแหล่งฝุ่นละออง และรถบรรทุก รถควันดำ จัดการเด็ดขาด ร้อยละ 38.8 ระบุ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องมีมาตรการ ควบคุมมลพิษ และอื่น ๆ เกาะติดจัดการขั้นเด็ดขาด กับ แหล่งผลิตฝุ่นละออง ให้จริงจัง ปรากฏตัวแสดงตน ลงถนน กับตำรวจจัดการเด็ดขาดให้ประชาชนเห็นจริงจังต่อเนื่อง

อ่านข่าวจากแหล่งอื่นๆ

โพสต์ทูเดย์ : โพลคนกรุงอยากให้ส่วนราชการจริงจังแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5
เดลินิวส์ : มหิดล จับมือ ซูเปอร์โพล เผยทางแก้ฝุ่น PM 2.5 ภาคประชาชน จี้รัฐตื่นตัวทำตามนโยบาย
ฐานเศรษฐกิจ : คนกทม.แนะคมนาคม ตรวจเข้มควันดำ ลดค่ารถไฟฟ้าแก้ฝุ่น PM 2.5
Thekey News : ตีแสกหน้า..“ส่วนราชการต่างๆ-กทม.” โพลชี้“ไม่ตื่นตัวแก้ปัญหาฝุ่นPM2.5”
สยามรัฐ : "ม.มหิดล" จับมือ "ซูเปอร์โพล" เผยแนวทางแก้ปัญหา PM 2.5 ภาคประชาชน จี้ รัฐตื่นตัวทำตามนโยบาย
ไทยโพสต์ : ซูเปอร์โพลชี้ประชาชนมองรัฐบาลยังไม่มีแนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง

Update : 10 มกราคม 2564