2566

>ข่าวประชาสัมพันธ์ >กินดี-กันป่วย เมื่ออาหารช่วยดูแลสุขภาพเชิงป้องกันกับโอเมก้า 3 ไขมันดีที่หาได้ในอาหารทุกมื้อ
กินดี-กันป่วย เมื่ออาหารช่วยดูแลสุขภาพเชิงป้องกันกับโอเมก้า 3 ไขมันดีที่หาได้ในอาหารทุกมื้อ

สิ่งที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการดูแลสุขภาพไม่ว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลงคืออาหารที่คุณกินทุกมื้อ การกินอาหารเสริมเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพเท่านั้น อีกวิถีหนึ่งของการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Healthcare Food) คือการเลือกกินอาหารที่ดีมีสารอาหารหลากหลายตามที่ร่างกายต้องการ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมสร้างความแข็งแรงของอวัยวะและระบบการทำงานของร่างกาย ช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพในด้านต่างๆ ด้วยเวชศาสตร์การป้องกันที่เป็นที่แพร่หลายทางการแพทย์ในปัจจุบัน จึงส่งผลต่อนวัตกรรมอาหารที่ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพเชิงรุกมากขึ้น

โอเมก้า 3 เป็นสารอาหารที่มีบทบาทในการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน โดยโอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนที่เป็นไขมันที่ดีต่อสุขภาพ โอเมก้า 3 จำเป็นต่อร่างกายของคนทุกวัย มีความสำคัญต่อการทำงานของสมอง สายตา และระบบหัวใจและหลอดเลือด มีการศึกษาพบว่า การได้รับโอเมก้า 3 อย่างเพียงพอ จะช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติเกี่ยวกับระบบการทำงานของสมอง หัวใจและหลอดเลือด ทั้งยังช่วยลด คอเลสเตอรอลและลดการอักเสบ ซึ่งการอักเสบเป็นสาเหตุสำคัญของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน เป็นต้น ลดการอักเสบของกระดูก และข้อต่าง ๆ นอกจากนี้ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงการพัฒนาของกลุ่มโรคทางระบบประสาทและสมอง เช่น อาการสมองเสื่อม ความจำเสื่อม และอาจช่วยบำรุงสายตา และสมองของทารกในครรภ์ด้วย

ซึ่งในปี 2565 มีจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง* (NCDs) ในประเทศไทยกว่า 10 ล้านคน และมีจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้นถึง 18.6% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

รู้จักโอเมก้า 3 ทั้ง 3 ชนิด

โอเมก้า 3 ประกอบไปด้วย 3 ชนิดดังนี้

1. กรดไขมัน Eicosapentaenoic Acid หรือ EPA ช่วยในการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด ลดการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ ลดความดันโลหิต และป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองอุดตัน

2. กรดไขมัน Docosahexaenoic Acid หรือ DHA มีผลวิจัยว่าสาร DHA มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองโดยเฉพาะในส่วนของความจำ และการเรียนรู้ รวมถึงดวงตา และระบบการมองเห็นด้วย

3. กรดไขมัน Alpha-Linolenic Acid หรือ ALA ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็น คือร่างกายสร้างเองไม่ได้ จึงจำเป็นต้องได้รับจากอาหาร ส่วนมากพบในเมล็ดพันธุ์พืช เช่น เมล็ดแฟล๊กซ์ (Flaxseed) เมล็ดเจีย (Chia seed) และถั่วเหลือง ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้

ดังนั้นจึงควรกินอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งสามารถพบได้ในอาหารหลายประเภท ทั้ง ปลาทะเลที่มีน้ำมัน อาหารทะเล พืชตระกูลถั่ว ถั่วเปลือกแข็ง น้ำมันคาโนล่า ไข่ ผลิตภัณฑ์จากนม เพราะ วัว แพะ แกะ ที่กินหญ้าหรือพันธุ์พืชที่มีสารอาหารโอเมก้า 3 สูง สารดังกล่าวจึงถูกส่งต่อมาทางนมนั่นเอง

ปัจจุบันมีหลายท่านที่แพ้อาหารทะเล แพ้ถั่ว หรือแพ้นม ก็อาจจะทำให้ได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 ไม่เพียงพอ การเสริมอาหารด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นสิ่งที่นักโภชนาการไม่นิยมแนะนำสำหรับบุคคลทั่วไป เนื่องจากหากบริโภคในปริมาณที่เกินกำหนดอาจจะทำให้เกิดโทษได้ นอกจากนั้นการบริโภคในรูปแบบอาหารเป็นสิ่งที่เราปฏิบัติการในชีวิตประจำวันอยู่แล้วและส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ และในอาหารยังประกอบด้วยสารอาหารหลากหลายชนิด ดังนั้นการกินอาหารให้เหมาะสม เราจะได้รับสารอาหารที่หลายหลายและครบถ้วน ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป สารอาหารที่ได้ยังช่วยส่งเสริมการทำงานซึ่งกันและกันด้วย ทั้งปัจจุบันโอเมก้า 3 ยังมีในแหล่งอาหารใหม่อย่างเนื้อสัตว์ที่ราคาไม่แพงและอยู่ในอาหารทุกมื้อ จึงทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอเมก้า 3 ได้ง่ายและบ่อยยิ่งขึ้น

เนื้อหมูและไก่ก็มีโอเมก้า 3 ?

เนื้อหมูและไก่ก็พบโอเมก้า 3 ได้ โดยนักวิจัยด้าน Animal Nutrition ได้ค้นพบว่าการปรับสูตรอาหารให้หมูและไก่ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ที่อยู่ในอาหารทุกมื้อได้กินอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง หรือมีโอเมก้า 3 สูง นั่นคือ เมล็ดแฟล็กซ์ สาหร่ายทะเล ผลิตภัณฑ์จากข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพดและถั่วเหลือง ก็จะส่งผลให้สัตว์กินอาหารอุดมด้วย โอเมก้า 3 อาหารคุณค่าสูงเหล่านี้ส่งผลให้ร่างกายสัตว์สามารถสะสมโอเมก้า 3 ได้ตามธรรมชาติ

นอกจากนี้ปัจจัยการเลี้ยงดูก็ส่งผลต่อการสะสมโอเมก้าในร่างกายสัตว์เช่นกัน เช่น หมูและไก่ที่ได้รับการเลี้ยงดูในระยะเวลาที่เหมาะสมจะทำให้สะสมกรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 ได้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้หมูและไก่แข็งแรงตามธรรมชาติและมีคุณค่าสารอาหาร ส่งต่อไปถึงผู้บริโภค เพราะเป็นโปรตีนจากธรรมชาติแหล่งสำคัญที่หาซื้อได้ง่าย ราคาถูกเมื่อเทียบกับอาหารทะเล และประกอบอาหารได้หลากหลายประเภท ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป

นี่จึงเป็นนวัตกรรมทางอาหารที่ทำให้ผู้บริโภคได้เข้าถึง การเลือกกินอาหารเพื่อการดูแลสุขภาพเชิงรุก ตามแนวคิดเวชศาสตร์การป้องกันทางการแพทย์กรือ Preventive medicine กลายเป็นกุญแจสำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดี และจะยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆเมื่อโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ที่คนจะมีอายุยืนขึ้น ระยะเวลาในการใช้ชีวิตในวัยชรายาวนานขึ้นในขณะที่สุขภาพถดถอยลง การลดความเสี่ยงทางสุขภาพ ลดอัตราการเกิดโรคด้วยการเลือกกินอาหารที่ดูแลสุขภาพเชิงรุกจึงเป็นวิถีการดูแลสุขภาพแบบใหม่ที่น่าสนใจ การกินอาหารจึงไม่ได้ช่วยเพียงแค่อิ่มท้องหรือทำให้มีพละกำลัง แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพก็ยังต้องอาศัยอีกหลายปัจจัย ทั้งการออกกำลังกาย การพักผ่อนที่เพียงพอ การมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตที่ดี เพื่อการดูแลสุขภาพครบทุกมิติเพื่อชีวิตที่ยั่งยืน

บทความเขียนโดย
รองศาสตราจารย์ ดร.พัชราณี ภวัตกุล
หัวหน้าภาควิชาโภชนวิทยา
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Source :
1. National Institutes of Health. Omega-3 Fatty Acid, Fact Sheet for Health Professionals, 2022.
2.Huang L, KC P, Liu S, Berggren T, Jones A, Scherr ER, et al. Omega-3 Fatty Acids, Nutrition and Health Info Sheet. University of California, 2018.
3. National Institutes of Health. Omega-3 Fatty Acid, Fact Sheet for Consumers, 2022.
4.Fleming AJ, Kris-Etherton MP. The Evidence for alpha-Linolenic and Cardiovascular disease Benefits: comparisons with EPA and DHA. Adv. Nutr. 5:863s-678s, 2014.

Update : 18 กันยายน 2566